สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อำนาจหน้าที่ และความสำคัญต่อประเทศไทยที่ควรรู้

เมื่อเกิดเหตุด่วนเหตุร้าย ไม่ว่าจะเรื่องเล็ก หรือเรื่องใหญ่ ทั้งกรณีอุบัติเหตุ ฉ้อโกง หรือฆาตกรรม กลุ่มบุคคลแรกที่ผู้คนในสังคมจะคิดถึงก็คืออาชีพตำรวจ เพราะตำรวจนั้นมีหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบ จับกุม และปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายในประเทศไทยของเรา ตำรวจไทยนั้นมีหลายแขนง หลายสังกัด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในบทความนี้จะมาแบ่งปันข้อมูลถึงความเป็นมาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อำนาจหน้าที่ของกรมตำรวจแห่งชาติ และมีความสำคัญอย่างไรต่อประเทศชาติของเรา


 

ความเป็นมาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า  คำว่า “ตำรวจ” นั้นมีการนำมาใช้ในประเทศไทยกว่า 500 ปีมาแล้ว สมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ท่านทรงโปรดเกล้าฯ โดยในสมัยนั้นได้มีการจัดระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็น 4 เหล่า เรียกว่า จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้มีตำรวจขึ้นด้วยและให้ขึ้นอยู่กับเวียง และมีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี เป็นผู้บังคับบัญชา โดยมีการแยกย่อยออกเป็นตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร และตำรวจหลวงซึ่งทำงานขึ้นตรงกับวังหลวง ซึ่งในยุคสมัยนั้นบุคคลที่จะเป็นตำรวจได้จะมีการคัดเลือกจากผู้ที่มีชาติกำเนิดสืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่ได้มีคุณงามความดี มีคุณูปการต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเป็นบุคคลที่ทรงวางพระราชหฤทัย การบังคับบัญชาตำรวจก็ต้องขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะแต่เพียงพระองค์เดียว กิจการตำรวจในยุคนี้จะจัดตั้งเพื่อให้ทำหน้าที่ในวงจำกัด และมิได้ขยายไปยังส่วนการปกครองทั่วประเทศเหมือนในยุคปัจจุบัน 

ต่อมาในยุคปฏิรูปการปกครองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ได้มีการว่าจ้างชาวต่างชาติมาเป็นผู้พิจารณา วางโครงการ จัดตั้งกองตำรวจ สำหรับรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตนครหลวงตามแบบสมัยใหม่เหมือนกับทางยุโรป นั่นคือ  ” กัปตัน เอส. เย. เบิร์ดเอมส์ ” ชายชาวอังกฤษกลายเป็นผู้จัดตั้งกรมตำรวจขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเขายังได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจคนแรกของไทยอีกด้วย ในช่วงแรก ตำรวจถูกใช้เรียกโดยคำทับศัพท์ว่า โปลิศ มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Police จาก ” กองโปลิศ ” ก็ได้พัฒนาขึ้นเป็น ” กรมกองตระเวน ” และ ” กรมพลตระเวน ” ก่อนจะกลายเป็น ” กรมตำรวจ ” คล้ายกับชื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนเริ่มเรียกอาชีพผู้พิทักษ์สันติราชว่า ตำรวจ เหมือนในทุกวันนี้

จนในพ.ศ.2541 กรมตำรวจโดยกระทรวงมหาดไทย ได้มีการเสนอเหตุผลให้กรมตำรวจที่เป็นกรมขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย สมควรโอนกรมตำรวจและจัดตั้งเป็น ” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ” ให้ส่วนราชการมีฐานะเป็นกรม ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง ให้มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงภายใน ทั้งส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การตระเวนชายแดน การรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ซึ่งจัดให้อยู่ในบังคับบัญชาของ นายกรัฐมนตรี

ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2541 จึงมีการจัดตั้ง และเปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยหลังการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้มีการกราบทูลเชิญสมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นประธานในการทำพิธีเจิมป้ายชื่อใหม่ โดยมี พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนแรก


สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่อะไร

กรมตำรวจแห่งชาติ

ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นส่วนราชการระดับกรมมีฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นการบังคับบัญชาโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการแบ่งโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 พระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 และ กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการ หรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1.  รักษาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ
  2.  ดูแล ควบคุม และกำกับการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจซึ่งปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  3.  ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญา
  4.  รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของราชอาณาจักร
  5.  ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  6.  ช่วยเหลือการพัฒนาประเทศ
  7.  ปฏิบัติการอื่นเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและแก้ไขเพิ่มเติมอยู่ตลอด เพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ


 

หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีการแบ่งหน่วยงานในสังกัดตามรูปแบบการปฏิบัติงาน โดยมีหน่วยงานดังนี้

ส่วนบังคับบัญชา

  • สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ (สยศ.ตร.)
  • สำนักงานส่งกำลังบำรุง (สกบ.)
  • สำนักงานกำลังพล (สกพ.)
  • สำนักงานงบประมาณและการเงิน (สงป.)
  • สำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.)
  • สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (สง.ก.ตร.)
  • สำนักงานจเรตำรวจ (จต.)
  • สำนักงานตรวจสอบภายใน (สตส.)
  • สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ (สลก.ตร.)
  • กองการต่างประเทศ (ตท.)
  • กองสารนิเทศ (สท.)
  • สำนักงานคณะกรรมการนโนบายตำรวจแห่งชาติ (สง.ก.ต.ช.)
  • กองบินตำรวจ (บ.ตร.)
  • กองวินัย (วน.)
  • สถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย (ILEA)

ส่วนป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

  • กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ตั้งอยู่ถนนศรีอยุธยา แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
  • ตำรวจภูธรภาค 1 (ภ.1) ตั้งอยู่ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
  • ตำรวจภูธรภาค 2 (ภ.2) ตั้งอยู่ตำบลหนองข้างคอก อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี
  • ตำรวจภูธรภาค 3 (ภ.3) ตั้งอยู่ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
  • ตำรวจภูธรภาค 4 (ภ.4) ตั้งอยู่ถนนหน้าเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
  • ตำรวจภูธรภาค 5 (ภ.5) ตั้งอยู่ถนนมหิดล ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
  • ตำรวจภูธรภาค 6 (ภ.6) ตั้งอยู่ตำบลมะตูม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก
  • ตำรวจภูธรภาค 7 (ภ.7) ตั้งอยู่ถนนข้างวัง ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
  • ตำรวจภูธรภาค 8 (ภ.8) ตั้งอยู่ที่ถนนเทพกระษัตรี ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
  • ตำรวจภูธรภาค 9 (ภ.9) ตั้งอยู่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ส่วนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

  • กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ตั้งอยู่ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
  • กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ตั้งอยู่ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
  • กองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บช.ส.)
  • สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.)
  • กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) ตั้งอยู่ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
  • สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.ตร.)
  • สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สทส.)
  • กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)

ส่วนการศึกษา

  • กองบัญชาการศึกษา (บช.ศ.)
  • โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (รร.นรต.) ตั้งอยู่ตำบลสามพราน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

ส่วนบริการ

  • โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)
  • กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว (บช.ทท.)

หน่วยงานอื่น ๆ

  • โรงพิมพ์ตำรวจ
  • กองทุนเพื่อการสืบสวนและการสอบสวนคดีอาญา
  • ศูนย์บริการข้อมูลคนหายและศพนิรนาม
  • ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
  • สายด่วนรถหาย
  • ศูนย์ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความสำคัญอย่างไร

ตำรวจเป็นอาชีพที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน เป็นผู้ตรวจรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายหน่วยงานเพื่อกระจายให้ทั่วถึงทุกส่วนของภูมิภาคทั่วประเทศ จึงทำให้มีบุคลากรตำรวจจำนวนมาก ทั้งในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ผู้รักษากฎหมาย เป็นทั้งพนักงาน และตำรวจสนาม แม้จะมีบทบาทหลักที่เรามักเห็นกันในเรื่องของการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรม รักษาความสงบสุขของประชาชน แต่เนื่องด้วยในปัจจุบันมีวิกฤติการที่หลากหลาย แปรเปลี่ยนทำให้สังคมไทยเผชิญกับปัญหามากมายหลายอย่าง ทำให้ตำรวจต้องปรับตัวเพื่อให้ดำเนินการบริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ในส่วนนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงต้องจัดระบบ ปรับหน่วยงานให้มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อรองรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ และช่วยกระจายงาน บริหารงานให้ตำรวจทุกหน่วยงานบริการประชาชนได้อย่างรอบคอบ และทั่วถึง ด้วยเหตุนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ตำรวจไทยมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และมั่นคง

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อย ปกป้องผู้คนในสังคมของไทยมาอย่างยาวนาน ทำให้อาชีพตำรวจเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีเกียรติ น่าภาคภูมิใจ และกลายเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน หากใครที่กำลังตั้งใจจะทำหน้าที่ตำรวจในอนาคต ขอเพียงมั่นใจ มุ่งมั่น มีความเพียรพยายามอย่างสม่ำเสมอ อาชีพตำรวจก็ไม่ยากเกินเอื้อม 

และหากต้องการคำปรึกษาเพื่อช่วยให้เส้นทางการเป็นตำรวจชัดเจนมากยิ่งขึ้น หรือสนใจติวสอบตำรวจ 

สามารถเข้ามาปรึกษาได้กับพี่ ๆ goventpolice ติดต่อเราได้ที่ Fanpage GovEntrance Police ติวสอบตำรวจ และทาง Line ได้เลย


Top