ตำรวจศาลคือใคร

ตำรวจศาลคือใคร มีหน้าที่อะไรบ้าง อยากเป็นต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

ความใฝ่ฝันของใครหลาย ๆ คน ที่อยากประกอบอาชีพตำรวจ ซึ่งตำรวจศาลก็เป็นอาชีพตำรวจสายงานหนึ่งที่มีความน่าสนใจและท้าทาย เจ้าพนักงานตำรวจศาล จะปฏิบัติงานสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม  มีหน้าที่รักษาความสงบ รักษาความปลอดภัยข้าราชการฝ่ายตุลาการ บุคคล รวมทรัพย์สินของศาล รวมทั้งปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการแจ้งให้ฝ่ายปกครองจับผู้ต้องหา อีกทั้งยังสามารถเป็นผู้จัดการตามหมายจับตามคำสั่งศาล จะเห็นว่า ตำรวจศาลก็เป็นอาชีพที่น่าสนใจ มีความท้าทายในการทำงาน บางคนอาจจะยังไม่เคยได้ยินหรือรู้จักตำรวจศาล อาจจะเกิดข้อสงสัยว่าตำรวจทำงานที่ศาลแล้วจะทำหน้าที่อะไรบ้าง  หรือสนใจว่าตำรวจศาลต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ถึงจะสอบบรรจุได้ โดยบทความนี้จะพามาทำความรู้จักตำรวจศาลกันค่ะ 

ตำรวจศาลคือใคร

ตำรวจศาล

หลายคนมีคำถามว่า เจ้าพนักงานตำรวจศาล เป็นอาชีพที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน มีความแตกต่างกับตำรวจอย่างไร ทำไมแต่งกายต่างกันละ เรามาสรุปสั้น ๆ ว่า ตำรวจศาลทำงานอย่างไร มีหน้าที่สำคัญอะไรบ้าง

ตำรวจศาล คือเจ้าพนักงานตำรวจที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ปฏิบัติงานภายในศาล มีอำนาจและหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อย รักษาความปลอดภัยให้แก่ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ทรัพย์สิน อาคารสถานที่ของศาลยุติธรรม รวมทั้งป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในบริเวณศาล นอกจากนี้ยังติดตามดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีการปล่อยชั่วคราว หรือบุคคลที่ศาลได้ออกหมายจับแล้ว

ตำรวจศาลมีหน้าที่อะไร

ตำรวจศาล มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานระดับต้นที่ใช้ความรู้ ความสามารถทางวิชาการ มีลักษณะงานเกี่ยวข้องกับการศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ วินิจฉัย ตรวจสอบและพัฒนางาน ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานศาล การตัดสินใจภายใต้การกำกับ แนะนำ ตรวจสอบ รวมถึงการปฏิบัติงานที่ตามที่ได้รับมอบหมาย 

ด้านการปฏิบัติการ มีหน้าที่รับผิดชอบสำคัญต่าง ๆ ดังนี้

ด้านงานรักษาความสงบเรียบร้อย รักษาความปลอดภัยบุคคลและทรัพย์สิน รวมทั้งป้องกัน ปราบปรามการกระทำความผิดบริเวณศาล รวมทั้งอาคารของศาลยุติธรรม รักษาความปลอดภัย คุ้มครองข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พนักงาน ลูกจ้างของศาลและสำนักงานศาลยุติธรรม รวมทั้งอาคารสถานที่ ทรัพย์สินของสำนักงานศาลยุติธรรม

ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครอง กรณีที่ตำรวจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหรือหลบหนี รวมไปถึงกรณีไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากพนักงานฝ่ายปกครองได้ทันที ก็มีอำนาจจับผู้ต้อง โดยนำไปยังศาลโดยเร็วที่สุด

ศาลออกหมายจับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล หากศาลมีการแต่งตั้งตำรวจศาลเป็นผู้จัดการหมายจับ อาจให้พนักงานฝ่ายปกครองจับผู้ต้องหาโดยมีเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้สนับสนุนได้ ในการปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก เจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ร่วมปฏิบัติการพิเศษในการค้น จับ ควบคุมตัวบุคคล สถานที่ สิ่งของ สร้างและพัฒนาอุปกรณ์ในการสืบสวนเพื่อใช้ในการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายศาล แสวงหา ตรวจสอบข้อเท็จจริง หลักฐาน แล้วนำมารวบรวม เพื่อให้ทราบข้อมูลในการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้ทำการหลบหนี 

ศึกษา วิเคราะห์ รวบรวม ตรวจสอบข้อมูลตามที่ได้รับมอบหมาย สำหรับการวางแผนและพัฒนาปฏิบัติการ รวมถึงการปฏิบัติงานด้านงานบริหารทั่วไป นโยบายและแผนงบประมาณ ติดตามประเมินผล งานบริหารพัฒนาทรัพยากรบุคคล รวมถึงงานที่ได้รับมอบหมายอื่น ๆ

ด้านการวางแผน มีหน้าที่วางแผนการทำงาน โครงการของหน่วยงานให้เป็นไปตามเป้าหมายและเกิดผลที่คาดว่าจะได้รับตามเป้าหมายที่กำหนด

ด้านการประสาน มีหน้าที่ประสานงานภายในหรือภายนอกหน่วยงาน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานตามที่ได้รับมอบหมายได้

ด้านการบริการ มีหน้าที่ให้ข้อมูล คำแนะนำในขอบเขตงานที่รับผิดชอบแก่องค์กรภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อให้ทราบข้อมูลตามความเหมาะสมในการปฏิบัติงาน

ประเภทตำแหน่งของตำรวจศาล

หลาย ๆ คนอาจจะมีข้อสงสัยว่า ตำรวจศาลมียศไหม สำหรับเจ้าพนักงานตำรวจศาลแล้วนั้น มีการกำหนดตำแหน่งระดับต่าง ๆ เป็นไปตามสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ประกอบกับการพิจารณาจากการปฏิบัติงาน โดยตำแหน่งตำรวจศาล มีประเภทตำแหน่ง ดังนี้

ตำรวจศาลประเภททั่วไป เริ่มตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญงาน และระดับอาวุโส
ตำรวจศาลประเภทวิชาการ ประกอบด้วยระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ และระดับชำนาญการพิเศษ

โครงสร้างการทำงานตำรวจศาล

การทำงานของตำรวจศาล มีโครงสร้างการปฏิบัติงานอยู่ภายใต้ศูนย์รักษาความปลอดภัย สังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม สามารถแบ่งโครงสร้างการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็น 7 ส่วน ดังนี้

  • ส่วนฝึกอบรมเจ้าพนักงานตำรวจศาล มีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ออกแบบ พัฒนาหลักสูตร เพิ่มพูนทักษะความสามารถ แล้วดำเนินการฝึกอบรม เพื่อช่วยให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งวิเคราะห์ ประเมินผลการพัฒนาการฝึกอบรมเจ้าพนักงานตำรวจศาลด้วย
  • เจ้าพนักงานตำรวจศาล 1 ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่กรุงเทพฯ และหน่วยงานสังกัดศาลยุติธรรมภาค 1
  • เจ้าพนักงานตำรวจศาล 2 ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ของหน่วยงานสังกัดศาลยุติธรรมภาค 2 และภาค 7
  • เจ้าพนักงานตำรวจศาล 3 ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ของหน่วยงานสังกัดศาลยุติธรรมภาค 3 และภาค 4
  • เจ้าพนักงานตำรวจศาล 4 ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ของหน่วยงานสังกัดศาลยุติธรรมภาค 5 และภาค 6
  • เจ้าพนักงานตำรวจศาล 5 ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ของหน่วยงานสังกัดศาลยุติธรรมภาค 8 และภาค 9
  • เจ้าพนักงานตำรวจศาล 6 ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร

คุณสมบัติของตำรวจศาล

คุณสมบัติของตำรวจศาล

คุณสมบัติตำรวจศาลประเภทวิชาการ

ด้านประเภทวิชาการเจ้าพนักงานตำรวจศาล จะต้องเป็นบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 40 ปีบริบูรณ์ กรณีตำแหน่งชำนาญการพิเศษต้องอายุไม่เกิน 50 ปี โดยจะต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านกฎหมาย หรือได้รับปริญญารัฐประศาสนศาสตรบัณฑิตจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีประสบการณ์ทำงานทั้งเป็นหรือเคยเป็นนายทหารหรือตำรวจชั้นสัญญาบัตร ยศไม่ต่ำกว่าร้อยโท ร้อยตำรวจโท เรือโท หรือเรืออากาศโท อาจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีชื่อตำแหน่งเรียกอย่างอื่น รวมทั้งจะต้องเคยผ่านงานการรักษาความปลอดภัย การปราบปราม การสืบสวน การข่าว หรืองานตรวจสอบประวัติพฤติการณ์บุคคล แล้วก็งานธุรการของศาลยุติธรรม เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งนี้ คุณสมบัติของตำรวจศาล จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามแห่งระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือพรบ.ตำรวจศาลด้วย

คุณสมบัติตำรวจศาลประเภททั่วไป

คุณสมบัติตำรวจศาลประเภททั่วไป จะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี แต่จะต้องไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์ ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือเทียบเท่าไม่จำกัดสาขาวิชา หรือจบการศึกษาจากโรงเรียนนายสิบตำรวจ นายสิบทหารเหล่าต่าง ๆ แล้วยังต้องมีประสบการณ์ในงานรักษาความปลอดภัย ปราบปราม สืบสวน การข่าว การสังเกตตรวจสอบพฤติการณ์บุคคลไม่น้อยกว่า 5 ปี รวมถึงคุณสมบัติของตำรวจศาล จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพรบ.ตำรวจศาลเช่นกัน

ตำรวจศาล เงินเดือนเท่าไหร่

ตำรวจศาลเงินเดือน

เราทราบข้อมูลเกี่ยวกับตำรวจศาลมาพอสมควรแล้ว เงินเดือนก็เป็นประเด็นสำคัญหนึ่งที่ช่วยตัดสินใจในการเลือกอาชีพ สำหรับตำรวจศาลเงินเดือนจะเริ่มต้นตามระดับคุณวุฒิของเจ้าพนักงานตำรวจศาล โดยเจ้าพนักงานตำรวจศาลปฏิบัติการ ประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ คุณวุฒิระดับปริญญาตรี มีอัตราเงินเดือนที่ได้รับคือ 15,000-16,500 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ การเข้ารับราชการตำแหน่งเจ้าพนักงานตำรวจศาลปฏิบัติการในสำนักงานศาลยุติธรรม จะมีการปรับขึ้นตามลำดับของการปฏิบัติงานต่อไป หรือมีสิทธิ์การเบิกค่าใช้จ่ายประเภทอื่น ๆ ได้ เช่น เบิกค่าการรักษาพยาบาล การเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ การเบิกจ่ายค่าตำรวจศาลเครื่องแบบพิเศษ เป็นต้น จะเห็นว่าเงินเดือนของตำรวจศาลในอัตราเริ่มต้นมาพร้อมทั้งสวัสดิการของข้าราชการเลยทีเดียว

สรุป

ตำรวจศาล เป็นอีกสายงานหนึ่งที่น่าสนใจ มีการปฏิบัติงานโดยใช้ความรู้ทางกฎหมาย เพื่อสนับสนุนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพร่วมกับทักษะด้านอื่น ๆ อีกมุมหนึ่งการปฏิบัติหน้าที่มีความแตกต่างกันไปตามกรณีที่พบเจอ การทำงานของเจ้าพนักงานตำรวจศาลก็มีความท้าทายไม่แพ้ตำรวจสายงานอื่น ๆ เลย ถ้ามีความสนใจกับงานตำรวจศาล ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ก็สามารถสอบเข้าทำงานได้อย่างแน่นอน หากมีข้อสงสัย ต้องการคำปรึกษา หรือสนใจอยากติวสอบตำรวจกับผู้สอนที่มีประสบการณ์มากมาย เราพร้อมให้คำปรึกษาเรื่องการเตรียมตัวสอบ ติวข้อสอบ ติดต่อสอบถามทาง GovEntrance Police ได้ที่เบอร์ 098-6324454 และ Facebook Fanpage GovEntrance Police ติวสอบตำรวจ และทาง Line ได้เลย

Top