ตำรวจทางหลวงคืออะไร ทำหน้าที่อะไรบ้าง

ตำรวจทางหลวงคืออะไร ทำหน้าที่อะไรบ้าง

ถ้าพูดถึงตำรวจทางหลวงหลายคนอาจจะไม่รู้ว่าตำรวจทางหลวงทำอะไร วันนี้เรามาทำความรู้จักกับตำรวจทางหลวงกันว่า ตำรวจทางหลวงทำอะไรบ้าง ใช่ตำรวจจราจรหรือเปล่า แล้วสุดท้ายมีอำนาจหน้าที่อะไรอย่างไร

ตำรวจทางหลวงคือ

ตำรวจทางหลวง คือ เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยบนทางหลวง ซึ่งในหลายประเทศตำรวจทางหลวงจะรวมถึงตำรวจจราจรด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระบบราชการของแต่ละประเทศ

สำหรับประเทศไทย ตำรวจทางหลวง คือ ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจทางหลวง สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีหน้าที่ดูแลทางหลวงแผ่นดินนอกเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีหมายเลข 1-3 ตัว รวมทั้งทางหลวงพิเศษด้วย ถึงตรงนี้ต้องของแวะอธิบายคำว่า ทางหลวง, ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงพิเศษ ที่ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของตำรวจทางหลวงกันก่อน

ทางหลวง คือ ถนนหรือเส้นทางที่มีไว้เพื่อการจราจรสาธารณะทางบก โดยในไทยมีทางหลวง 5 แบบคือ ทางหลวงแผ่นดิน,ทางหลวงพิเศษ,ทางหลวงชนบท, ทางหลวงท้องถิ่น และทางหลวงสัมปทาน ซึ่งทั้งหมดจะดูแลโดยกรมทางหลวงและตำรวจทางหลวง ในบทความนี้เราจะขออธิบายแค่ ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงพิเศษ

ทางหลวงแผ่นดิน  คือ ทางหลวงสายหลักเชื่อมระหว่างภาค, จังหวัด และอำเภอ ที่กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งสร้าง, ขยาย และบำรุงรักษา

ทางหลวงพิเศษ  คือ ทางหลวงที่สร้างเพื่อให้การจราจรผ่านได้เร็วเป็นพิเศษ โดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการทั้งสร้าง, ขยาย และบำรุงรักษา รวมทั้งควบคุมให้มีการเข้าออกได้เฉพาะ

ตำรวจทางหลวง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่พระมหากษัตริย์ และราชินี รวมทั้งตรวจตรา, ดูแล, รักษาความสงบ พร้อมป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม รวมทั้งพิจารณาความอาญา ตามประมวลกฎหมายซึ่งเกี่ยวกับความผิดทางอาญาและการจราจร ในเขตทางหลวง

โดยตำรวจทางหลวง มีโครงสร้างการบริหารงานแบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้

1.ฝ่ายอำนวยการ

2.กองกำกับการ 1 (สระบุรี)

3.กองกำกับการ 2 (นครปฐม)

4.กองกำกับการ 3 (ชลบุรี)

5.กองกำกับการ 4 (ขอนแก่น)

6.กองกำกับการ 5 (ลำปาง)

7.กองกำกับการ 6 (อุบลราชธานี)

8.กองกำกับการ 7 (สงขลา)

9.กองกำกับการ 8 (รามอินทรา)

ตำรวจทางหลวง

อำนาจหน้าที่ของตำรวจทางหลวง

ตำรวจทางหลวงมีอำนาจหน้าที่หลัก ๆ คือการดูแลรักษาความสงบในเขตทางหลวง แต่จะมีอะไรบ้างนั้นไปชมกัน

การสอบสวนอุบัติเหตุ

ตำรวจทางหลวงมีหน้าที่สอบสวนอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกิดบนทางหลวง รวมถึงการรวบรวมหลักฐาน ต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุในอุบัติเหตุนั้น ๆ เช่น รูปภาพหรือพยานบุคคล

การบังคับใช้กฎหมายและกฎจราจร

ตำรวจทางหลวงมีหน้าที่ บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทางหลวง การจราจร และการขนส่ง เพื่อให้ผู้ใช้ถนนสะดวก ที่สำคัญเพื่อรักษาความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนนในเขตทางหลวง เช่น การจำกัดความเร็ว

การดูแลเหตุฉุกเฉิน

ตำรวจทางหลวงมีหน้าที่ในการดูแลเหตุฉุกเฉินบนท้องถนน รวมถึงการป้องกันพื้นที่อุบัติและปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ ก่อนที่จะส่งต่อให้กับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาล 

การบำรุงรักษาถนน

ตำรวจทางหลวงมีหน้าที่สังเกตและรายงานความเสียหายที่เกิดบนทางหลวง ทั้งความเสียหายจากการใช้งาน, ความเสียหายจากภัยพิบัติ และความเสียหายจากอุบัติเหตุ

การให้ข้อมูลแก่ประชาชน

ตำรวจทางหลวงมีหน้าที่ให้ข้อมูลการจราจรแก่ประชาชน และตำรวจทางหลวงยังต้องส่งเสริมการขับขี่ที่ปลอดภัยบนท้องถนนโดยปฏิบัติเป็นตัวอย่างด้วย

อยากเป็นตำรวจทางหลวงต้องเรียนอะไร

หากอยากเป็นตำรวจทางหลวง คุณสามารถใช้วุฒิการศึกษาในการสมัครได้ตั้งแต่ มัธยมศึกษาปีที่ 3 / มัธยมศึกษาปีที่ 6 / ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) / ประกาศนียบัตรวิชาชีพ เทคนิค (ปวท.) / ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และ อนุปริญญา หรือเทียบเท่า ซึ่งหากผ่านการทดสอบตำรวจ วุฒิการศึกษาเหล่านี้จะนับเป็นลำดับขั้นยศที่จะได้รับ

สำหรับผู้ที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัย แนะนำให้เรียน คณะรัฐศาสตร์ และ คณะนิติศาสตร์ จะสามารถนำไปใช้ในการเป็นตำรวจได้จริงหากต้องการเป็นตำรวจทางหลวง และจะได้รับยศเป็นสิบตำรวจตรี เมื่อรับราชการครบ 1 ปี

หากอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถไปอ่านได้ที่บทความ อยากเป็นตำรวจ ได้เลย

การตั้งจุดสกัดของตำรวจทางหลวง

การโบกรถให้จอดบนทางหลวง

อย่างที่ทราบกันตำรวจทางหลวงมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบในเขตทางหลวง หลายครั้งที่พวกเขาจะตั้งด่านเพื่อสกัดรถให้ชะลอและจอด แต่จริง ๆ แล้วการโบกรถให้จอดบนทางหลวงของตำรวจทางหลวง มีหลักการอย่างไรบ้าง

ตำรวจทางหลวงโบกรถได้ทุกคันไหม

ตำรวจทางหลวงมีอำนาจในการโบกรถเพื่อตรวจความผิดปกติของรถยนต์หรือสิ่งของที่บรรทุกมาแต่ตำรวจทางหลวงไม่สามารถโบกรถได้ทุกคัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์เฉพาะหน้า เช่น ผู้ขับขี่อาจมีพฤติกรรมที่ขับขี่ไม่ปลอดภัย, รถของผู้ขับขี่มีลักษณะคล้ายรถที่อยู่ในหมายจับ หรือรถของผู้ขับขี่มีความผิดปกติที่อาจทำให้เกิดอุบัติ เช่น ยางแตก ท่อไอเสียมีปัญหา

ทำไมจึงมีการโบกรถ

ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง มาตรา 23 ที่ว่า “พนักงานจราจร หรือ ตำรวจทางหลวง สามารถเรียกยานพาหนะให้หยุดเพื่อทำการตรวจสอบได้ ในกรณีเชื่อว่ามีการกระทำผิด” ถ้าเข้าค่าย พ.ร.บ. มาตรานี้ พนักงานจราจร หรือ ตำรวจทางหลวง ก็สามารถโบกรถให้จอดได้ แต่ข้อกฎหมายในส่วนนี้สามารถตีความได้กว้างมาก เพราะอย่างนั้นพนักงานจราจร หรือ ตำรวจทางหลวง จะต้องแจ้งเหตุที่ทำให้ต้องจอดรถด้วย

ถ้าโดนโบกต้องจอดรถไหม

ก่อนอื่นต้องแจ้งก่อนว่า ผู้ที่สามารถโบกรถให้จอดรถได้นั้นคือ “เจ้าพนักงานจราจร หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่จราจร ที่ได้รับมอบหมายตาม พ.ร.บ. จราจร” ซึ่งในที่นี้รวมถึง ตำรวจทางหลวง ด้วย หากเป็นตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อื่นมาโบก คุณไม่จำเป็นต้องจอดรถก็ได้

แต่สิ่งที่ควรทำจริง ๆ ก็คือ จอดรถเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนาในการทำผิด หรือปกปิดอะไรอย่าคิดว่าไม่ผิดก็ไม่จอด

การตั้งจุดสกัดของตำรวจทางหลวง

พูดถึงเรื่องการตั้งจุดสกัดของตำรวจทางหลวง เราต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ กฎหมาย ว่าด้วยเรื่อง “มาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กันก่อนว่า ด่านตรวจ, จุดตรวจ และจุดสกัด ต่างกันอย่างไร

1.  ด่านตรวจ คือ สถานที่ที่ตำรวจใช้ในการตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ และการตั้งด่านตรวจจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

2.  จุดตรวจ คือ สถานที่ที่ตำรวจใช้ในการตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขต “ทางเดินรถ หรือทางหลวง” โดยกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วต้องยุบเลิกจุดตรวจทันที

3.  จุดสกัด คือ สถานที่ที่ตำรวจใช้ในการตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขต “ทางเดินรถ หรือทางหลวง” ในกรณีมีเหตุเร่งด่วนและจะยุบไปเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว

การจัดตั้งจุดตรวจและจุดสกัด ของตำรวจทางหลวงนั้น มีหลักการคือ “ห้ามมิให้ตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ หรือจุดสกัด ในเขตทางเดินรถหรือทางหลวง” และจุดสกัดจะตั้งได้เฉพาะเวลามีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือเร่งด่วนและจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาก่อน

ที่สำคัญการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจใน ด่านตรวจ, จุดตรวจ และจุดสกัด จะต้องมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับรองสารวัตรขึ้นไป เป็นหัวหน้า และตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ต้องแต่งเครื่องแบบเท่านั้น

ตำรวจทางหลวง

สุดท้ายนี้ สำหรับใครที่อยากเป็นตำรวจทางหลวง ต้องค่อยหมั่นติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครสอบตำรวจตามช่องทางต่าง ๆ จากกองการสอบ กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้ให้ดี

นอกจากนี้ ขอฝากช่องทางเพื่อติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการสอบตำรวจ และเพื่อเตรียมตัวสำหรับการสอบตำรวจ หรือ หากท่านใดมีความกังวลเกี่ยวกับการสอบตำรวจสามารถสอบถามโดยตรงได้ทาง Fanpage GovEntrance Police ติวสอบตำรวจ และทาง Line เลย

Top